เสาชิงช้า แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจะทำกันในเดือนอ้าย (ธ.ค.) ครั้นเมื่อถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (ม.ค.) พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวรแล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร



          พิธีโล้ชิงช้า มีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพซึ่งกล่าวว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำแล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัว โดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัวเท้าพระอิศวรนั้น ไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรงพระอิศวรจึงทรงชนะพนัน ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น "ต้นพุทรา" ช่วงระหว่างเสาคือ "แม่น้ำ" นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือ "พญานาค" โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ

          เสาชิงช้า รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้านหน้าเทวสถานตรงบริเวณที่เป็นใจกลางพระนคร เมื่อมีการสร้างโรงแก๊สขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงย้ายมาตั้งตรงบริเวณปัจจุบันส่วนพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

ที่อยู่ หน้าวัดสุทัศน์ฯ ถ.บำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ. 2492
สำคัญทางประวัติศาสตร์ ในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี
เวลาทำการ ทุกวัน
ค่าเข้าชม ไม่เสียค่าเข้าชม
การเดินทาง รถประจำทาง : 10 12 19 35 42 56 96
รถปรับอากาศ : 42
ที่จอดรถ บริเวณศาลาว่าการ กทม.
สถานที่ใกล้เคียง ชุมชนบ้านบาตร
เทวสถาน
ย่านขายเครื่องสังฆทาน
วัดเทพธิดาราม
วัดมหรรณพาราม
วัดสุทัศน์เทพวราราม
ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลาว่าการ กทม.
สวนรมณีนาถ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

หน้าแรก | ประวัติกรุงเทพ | วัด | สถานที่สำคัญ | สวนสัตว์ | แหล่งช็อปปิ้ง | ลิงค์น่าสนใจ | คณะผู้จัดทำ