วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดพระแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327
          เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก 50 ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
          เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมามุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลป์ไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป



ตำนานพระแก้วมรกต
          สันนิษฐานว่าพระแก้วมรกตนั้นสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน ทำจากหยกสีเขียวเข้ม จำหลักเป็นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 43 ซม. สูง 55 ซม. พบครั้งแรกในเจดีย์วัดป่าญะ จ.เชียงราย ปีพ.ศ. 1977 เป็นพระปูนลงรักปิดทอง ต่อมาปูนกะเทาะจนเห็นองค์จริง พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดขบวนช้างมาอัญเชิญ แต่ขบวนช้างไม่ยอมเข้าเมืองเชียงใหม่ เลยนำไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
          พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ แต่ต่อมา พ.ศ.2094 พระเจ้าไชยเชษฐา เจ้าเมืองเชียงใหม่ เสด็จไประงับเหตุพิพาทที่หลวงพระบาง จึงอัญเชิญเสด็จไปด้วย เมื่อหลวงพระบางถูกรุกรานจากพม่าในปี พ.ศ. 2107 พระเจ้าไชยเชษฐาได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตไป
          จน พ.ศ. 2321 เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญลงมาประดิษฐานยังโรงพระแก้ว ณ พระราชวังเดิม ในกรุงธนบุรี ครั้นเสด็จไปปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ได้อัญเชิญมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” พร้อมกับสร้างเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนถวาย ส่วนเครื่องทรงฤดูหนาวมาสร้างถวายในรัชกาลที่ 3 และใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมธนารักษ์จัดสร้างเครื่องทรงขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่วนของเดิมให้นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ไหว้พระแก้วด้วยปลาร้า ข้าวเหนียว
          นอกจากจะเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คุ้มครองบ้านเมืองมาโดยตลอดแล้ว คนทั่วไปยังเชื่อว่าท่านสามารถช่วยดลบันดาลให้สมประสงค์ตามที่บนบานได้ด้วย ทุกวันนี้จะเห็นชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวายแก้บนกันเป็นประจำ สิ่งที่นิยมนำมาถวายคือ ปลาร้า ข้าวเหนียว ไข่ต้ม ไก่ย่าง เนื่องจากเชื่อกันว่าพระแก้วมรกตเคยประทับอยู่ในเมืองลาวมานาน ฉะนั้นท่านน่าจะโปรดอาหารลาว ความนิยมในการถวายปลาร้าข้าวเหนียวนี้ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มเกิดตั้งแต่เมื่อใด แต่น่าจะเกิดขึ้นมาในระยะหลังนี่เอง เพราะจากเอกสารเก่าฉบับหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 5 (มร.5 รล./14) กล่าวถึงอาหารแก้บนของหญิงผู้หนึ่ง ซึ่งได้บนบานขอให้รัลกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาโดยปลอดภัย โดยได้ถวายเพียงหัวหมูและละครเท่านั้น ไม่มีข้าวเหนียว ปลาร้าเหมือนทุกวันนี้

ที่อยู่ บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
โทรศัพท์ (662) 222-8181:3801 3890 , (662) 222-2208 623-5500:3100
โทรสาร -
เวลาทำการ ทุกวัน 8.30-11.30 น. และเวลา 13.00-15.30 น.
การเดินทาง รถประจำทาง 1 3 6 9 15 19 25 30 32 33 39 43 44 47 53 59 60 64 65 70 80 82 91 123 201 203
รถปรับอากาศ 1 6 7 8 12 25 38 39 44 506 507 512
ท่าเรือ 1. เรือด่วนเจ้าพระยา: ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ 2. เรือข้ามฟาก: ท่าช้าง ท่าพระจันทร์
ที่จอดรถ ท่าราชวรดิษฐ์ วัดมหาธาตุฯ  สนามหลวง
ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท
คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม
กิจกรรม-เทศกาล วันอาทิตย์ เทศนาธรรม 13.00 น.
วันพระ เทศนาธรรม 09.00 น. และ 13.00 น.
มัคคุเทศน์

เวลา 10.00 น. และ 14.00 น. เครื่องบรรยายภาษาต่างประเทศ:จีนกลาง ญี่ปุ่น ไทย ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน รัสเซีย อังกฤษ
ค่าธรรมเนียม 100 บาท/2 ชั่วโมง หนังสือเดินทาง/บัตรเครดิต

ร้านกาแฟ / ร้านอาหาร ศาลาอรรถวิจารณ์
ข้อห้าม ห้ามถ่ายรูปในพระอุโบสถ
ผู้ชาย: ห้ามใส่กางเกงขาสั้น ห้ามสวมรองเท้าแตะ
ผู้หญิง: ห้ามใส่เสื้อกล้าม ใส่เสื้อไม่มีแขน ห้ามกางเกงสามส่วน ห้ามสวมรองเท้าแตะ
สถานที่ใกล้เคียง กรมศิลปากร ตึกถาวรวัตถุ
พระบรมมหาราชวัง
พิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร
พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ
พิพิธภัณฑ์ฯ ศิลป์ พีระศรี
ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร
วัดพระเชตุพนฯ วัดราชวรประดิษฐฯ
วัดมหาธาตุฯ วัดอรุณฯ
ศาลหลักเมือง สนามหลวง
สวนสราญรมย์ หอกลอง
หอนาฬิกา
ความสำคัญ วัดคู่กรุง, ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
สังกัดคณะสงฆ์ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา (ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง)
พระประธานในอุโบสถ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

 

หน้าแรก | ประวัติกรุงเทพ | วัด | สถานที่สำคัญ | สวนสัตว์ | แหล่งช็อปปิ้ง | ลิงค์น่าสนใจ | คณะผู้จัดทำ