ศาลหลักเมือง ในปี 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีไปยังฝั่งพระนครและทรงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีนาครสถานเพื่อยกเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 6.45 น.
เสาหลักเมือง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ด้านนอกประดับด้วยไม้แก่น กำหนดให้ตัวเสาสูงพ้นดิน 108 นิ้ว ฝังในดิน 79 นิ้ว มีหัวเม็ดเป็นยอดสวมไว้ด้านบน ยอดหลักลงรักปิดทอง ภายในบรรจุดวงพระชันษาพระมหานคร
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่าหลักเมืองทรุดโทรมจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากทรงเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์จึงทรงแก้ไขดวงเมือง โดยทรงประกอบพิธีจารึกดวงพระชันษาพระนครบนทองคำหนัก 1 บาท ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและให้ก่อศิลาขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นยอดปรางค์ตามอย่างศาลาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากนั้นทรงบรรจุดวงพระชันษาพระนครไว้ที่หลักเมืองแล้วจัดให้มีการสมโภชฉลองด้วย
อนึ่งในบรรดาเทพารักษ์ประจำเมืองที่ประดิษฐานอยู่ภายในนั้นแต่เดิมมีเพียง 3 องค์คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองและพระหลักเมือง ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริถึงการที่ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤติการณ์มาได้ จึงทรงประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง

|