วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พระปรางค์วัดอรุณฯ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันทั่วโลก จากแผนที่เมืองธนบุรีซึ่งชาวฝรั่งเศสทำไว้ในรัชสมันสมเด็จพระนารายณ์มหาราชบ่งบอกว่า วัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังได้ทรงถือเอาวัดแห่งนี้เป็นวัดภายในพระราชวัง ยกเลิกไม่ให้พระสงฆ์จำพรรษา และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามว่า "วัดแจ้ง" ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามว่า "วัดอรุณราชวราราม" ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "อรุณราชธาราม"

          พระปรางค์ ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจาน ชามเบญจรงค์และเปลือกหอย ทำเป็นลายดอกไม้ ใบไม้และลายอื่นๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูลและมงกุฎปิดทอง
พระระเบียงคต (พระวิหารคต) สร้างแทนกำแพงแก้วหลังคามุงกระเบื้องเคลือบมีประตู ภ ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 120 องค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงยกย่องว่า "ทรวดทรงงามกว่าระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ 2 ควรชมอย่างยิ่ง"

          ประตูซุ้มยอดมงกุฎ เป็นประตูจัตุรมุข หลังคา 3 ชั้นเฉลียงรอบ มียอดเป็นมงกุฎ ประดับกระเบื้องถ้วยสลับสี

          มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ภายในมีพระพุทธบาทจำลองเป็นหินสลักจากกวางตุ้ง

          ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน อยู่ที่เขื่อนหน้าวัดมี 6 หลัง

          ภูเขาจำลอง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้นำมาไว้ที่วัดนี้

          รูปปั้นยักษ์ยืน หน้าประตูยอดซุ้มพรมงกุฎมี 2 ตน ปั้นด้วยปูน ยักษ์ขาว คือ สหัสเดชะ ยักษ์เขียว คือ ทศกัณฑ์

          วัดแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองคู่กับกรุงรัตนโกสินทร์มาตลอด สถาปัตยกรรมของปูชนียวัตถุสถานล้วนทำอย่างประณีตงดงามสมกับเป็นหนึ่งในวัดเอกของประเทศไทยและตามพระราชประเพณีพระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีที่สำคัญของทางวัดตลอดจนพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค

          พระอุโบสถ ถือเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นศิลปะกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันทั้งหน้าและหลังเป็นไม้แกะจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 พระประธานมีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" เป็นพระปางมารวิชัยหล่อขึ้นใสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ผ้าทิพย์ตรงใบพัดยศบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2

ที่อยู่ 34 ถ.อรุณอมริทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพฯ 10600
โทรศัพท์ (662) 891-1149
โทรสาร (662) 891-1149
เวลาทำการ บริเวณวัด ทุกวัน 7:30 -17:30 น.
โบสถ์ ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงท่านเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ
การเดินทาง รถประจำทาง 19 57 83
ท่าเรือ 1. เรือหางยาวรับจ้าง: ท่าวัดอรุณฯ 2. เรือโดยสารข้ามฟาก:ท่าเตียน ท่าโพธิ์-ท่าวัดอรุณฯ
ที่จอดรถ บริเวณภายในวัด
ค่าเข้าชม พระปรางค์ 10 บาท
กิจกรรม-เทศกาล ประเพณีทอดกฐิน
หลังวันเข้าพรรษา 9 วัน(พ.ย.)
เทศกาลลอยกระทง ประกวดกระทง
สถานที่ใกล้เคียง กุฎิเจริญพาศน์
ป้อมวิชัยประสิทธิ์
มัสยิดต้นสน
วัดเครือวัลย์
วัดโมลีโลกยาราม
วัดระฆังฯ
วัดราชสิทธาราม
วัดสังข์กระจาย
วัดหงส์รัตนาราม
สน.บางกอกใหญ่
สะพานเจริญพาศน์
สถานที่สำคัญ ห้องสมุด สมเด็จ (วนถิติญาณเถร) เวลาทำการ 8.30-17.30 น (ปิดทำการ วันพุธ , วันนักขัตฤกษ์)
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ. 2492
อารามหลวง ชั้นเอก


หน้าแรก | ประวัติกรุงเทพ | วัด | สถานที่สำคัญ | สวนสัตว์ | แหล่งช็อปปิ้ง | ลิงค์น่าสนใจ | คณะผู้จัดทำ