วัดโพธิ์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
          พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ 50 ไร่ 38 ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง
- ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง
- ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย
- ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ
- ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช
          มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจนมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง 2 วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ) ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2331 ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. 2344 พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ" ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม"
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ นานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี พ.ศ. 2525 เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ

สิ่งสำคัญในพระอาราม
          1. พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ คือฐานตรง เสาสี่เหลี่ยม หลังคามุขลดสามชั้น หน้าบันประดับลายปูนปั้นเป็นลายเครือวัลย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ได้ขยายและสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 3 และมีการซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน
          ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำมันเรื่องพระสาวกที่ได้รับเอตทัคคะ และเสาในพระอุโบสถทั้ง 16 เสา เขียนด้วยสีน้ำมัน เป็นลายดอกไม้ก้านแย่งสลับนก บานประตูด้านในเขียนลายรดน้ำ เป็นภาพพัดพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญฝ่ายอรัญวาสี และคามวาสี ทั้งในกรุงและนอกเมือง ส่วนด้านนอกประดับมุก เป็นภาพรามเกียรติ์
          2. พระระเบียงรอบพระอุโบสถ เป็นระเบียง 2 ชั้น ทั้งระเบียนชั้นนอก และระเบียงชั้นใน สร้างในรัชกาลที่1 ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้เสริมผนังพระระเบียงชั้นใน ให้สูงกว่าเดิม 2 ศอก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้บูรณะใหม่อีกครั้งหนึ่ง
          ภายในพระระเบียงทั้ง 2 ชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสมัยต่างๆ เช่น ล้านนา สุโขทัย อู่ทอง และอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองต่างๆ แล้วนำมาบูรณะใหม่ ในรัชกาลที่ 3 ได้ทำฐานชุกชีพระพุทธรูปใหม่ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในพระระเบียงชั้นในมีทั้งสิ้น 154 องค์ ส่วนในพระระเบียงชั้นนอกประดิษฐานพระพุทธรูป 244 องค์ ตามเสาพระระเบียงจำหลักศิลาจารึก ประเภทวรรณคดีต่างๆ เช่น โคลง ฉันท์ กลอน กลบท ระหว่างพระระเบียงทั้ง 2 ชั้น มีถะ หรือเจดีย์ลัทธิมหายานแบบจีน จำนวน 20 องค์
          3. พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้อัญเชิญมาจากวัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี่หน้า) ธนบุรีใต้ฐานชุกชีเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระนอน

ที่อยู่ ถ.สนามไชย  แขวงพระบรมมหาราชวัง  เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์ (662) 222-5910 226-2942 225-9595
โทรสาร (662) 225-9779
เวลาทำการ ทุกวัน 8.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 20 บาท
คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม
ข้อแนะนำ การถ่ายรูปภายในอาคารต้องขออนุญาต
ควรแต่งกายสุภาพ
การเดินทาง รถประจำทาง 1 3 6 9 12 25 32 43 44 47 48 53 60 82 91 123
รถปรับอากาศ 8 25 44 91 82 506 507 512
ท่าเรือ 1.เรือด่วนเจ้าพระยา: ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าราชินี (ปากคลองตลาด) 2. เรือข้ามฟาก: ท่าช้าง ท่าเตียน ท่าราชินี (ปากคลองตลาด)
ที่จอดรถ ภายในบริเวณวัด
สถานที่ใกล้เคียง ตลาดปากคลอง
พระบรมมหาราชวัง
พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ
ม.ศิลปากร
วิทยาลัยในวังวัดพระแก้ว
วัดราชประดิษฐฯ
วัดอรุณฯ
สวนสราญรมย์หอกลอง
หอนาฬิกา
ความสำคัญ พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของไทย วัดประจำรัชกาลที่ 1
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ.2492
สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
พระประธานในอุโบสถ พระพุทธเทวปฏิมากร
เว็บไซต์ www.watpho.com

หน้าแรก | ประวัติกรุงเทพ | วัด | สถานที่สำคัญ | สวนสัตว์ | แหล่งช็อปปิ้ง | ลิงค์น่าสนใจ | คณะผู้จัดทำ